นาคปักษิณเป็นสัตว์กึ่งน้ำกึ่งบก คือเอาส่วนหัวของ "นาค" มาประสม กับส่วนตัวของ "ปักษิณ" ซึ่งแปลตามตัวว่า สัตว์มีปีก ก็คือนกนั่นเอง "นาค" มีความหมายหลายอย่าง แต่ในที่นี้หมายถึงงูใหญ่ในนิยาย ซึ่งเรามักเรียกกันว่า "พญานาค" พญานาคตามทัศนะของจินตกวีและช่างเขียนเป็นงูใหญ่ประเภทมีหงอนและเครา ตามนิยายโบราณมักจะกล่าวถึงพวกนาคมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์เสมอ เรื่องของ พญานาคมีที่มาเป็นสองทาง คือทางลัทธิพราหมณ์กับทางพุทธศาสนา พญานาค ทางลัทธิพราหมณ์ออกจะถือกันว่าเป็นเทวดาแท้ ๆ เช่น พญาอนันตนาคราช และ ท้าววิรุฬปักษ์ (ดูหนังสือ "เทวนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย") ว่าถึงที่อยู่ของพวกนาค ก็มีทั้งที่อยู่บนบกและอยู่ในน้ำ อย่างพญาวาสุกรี ที่ อยู่เมืองบาดาลก็ไม่ใช่ในน้ำ เป็นเมืองที่อยู่ใต้โลกมนุษย์ลงไปอีกชั้นหนึ่ง นาค ทางคัมภีร์พุทธศาสนามักอยู่ในโลกมนุษย์เรานี้ อยู่ในโพรงบ้าง ในถ้ำบนบกบ้าง อยู่ในน้ำบ้าง อย่างพญานาคชื่อภูริทัต ในมหานิบาตชาดก ก็อยู่บนบก แต่ตาม เรื่องไทย ๆ เราว่า พญานาคอยู่ในน้ำกันมาก นาคพิภพที่ว่าอยู่ใต้ดินนั้น มีกล่าวในไตรภูมิพระร่วงว่า "แต่แผ่นดินดัน เราอยู่นี้ลงไปเถิงนาคพิภพ อันชื่อว่าติรัจฉานภูมินั้น โดยลึกได้โยชน์ ๑ แล ผิจะนับด้วยวาได้ ๘๐๐ วาแล" นาคปักษิณ หัวเป็นนาค มีหงอน ส่วนท่อนหางเป็นแบบหางหงส์ เพื่อให้ รับกับส่วนหัว